ส่องเทรนด์ราคาที่ดินปี 2568 ขึ้นได้อีก 5-10% สวนทางแนวโน้มเศรษฐกิจยังชะลอตัว ภาพรวมปรับขึ้นอีก 5-15% ทั่วไทย ท็อป 10 เมืองกรุงยังเป็นทำเลเดิม “ชิดลม-เพลินจิต” ยืนแชมป์แพงสุดซื้อขายวาละ 3.75 ล้าน ต่างจังหวัดทำเลเด่นรายงานตัวครบทั้ง “เชียงใหม่-โคราช-ชลบุรี-ภูเก็ต” ปรับขึ้นสูงสุด 5-15% ที่ภูเก็ต ราคาขยับแรงแซงกรุงเทพฯ
นายปริสุทธิ์ รอดจากภัย ผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจวิจัย บริษัท โปรสเปค แอพเพรซัล จำกัด บริษัทประเมินราคาทรัพย์สินและที่ดินที่มีสาขาทั่วประเทศ เปิดเผยว่า ตลอดปี 2567 ที่มีการขยายตัวของเมืองทำให้มีความต้องการที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยคาดว่าราคาที่ดินทั่วประเทศในปี 2568 จะปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 5-10% ขึ้นอยู่กับทำเล
รถไฟฟ้าเก่า-ใหม่ขึ้นยกแผง
ทั้งนี้ ทำเลที่ดินปรับราคาสูงขึ้นอยู่ในทำเลใกล้กับแนวรถไฟฟ้าทั้งสายใหม่และสายเก่า เพราะตอบโจทย์ความสะดวกสบายในการเดินทาง ใกล้แหล่งใช้ชีวิตและใกล้ที่ทำงาน อาทิ เขตทวีวัฒนา บางแค บางพลัด ธนบุรี ตลิ่งชัน ดอนเมือง บางนา วัฒนา สะพานสูง สายไหม มีนบุรี สวนหลวง
และโซนจังหวัดปริมณฑล เช่น อำเภอเมืองนนบุรี อำเภอบางบัวทอง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และอำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของเมือง
เมืองหลัก-เมืองท่องเที่ยวพุ่ง
สำหรับราคาที่ดินในต่างจังหวัดมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในเมืองท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโซนภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ แนวโน้มปี 2568 ขึ้นเฉลี่ย 5-10% เทียบกับปี 2567 เนื่องจากเป็นทั้งจังหวัดหัวเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยว โดยปีนี้มีเหตุการณ์พิเศษจากอุทกภัย ทำให้โซนการอยู่อาศัยเด่นชัดขึ้น
คาดว่าขยายพื้นที่เมืองออกไปทาง 3 อำเภอหลัก “สันทราย-สันกำแพง-ฝาง” ซึ่งมีการขยายตัวของโครงการที่พักอาศัย ชุมชน และพาณิชยกรรม และมีโครงการสนามบินนานาชาติเชียงใหม่แห่งที่ 2 ในพื้นที่
ADVERTISMENT
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โฟกัสที่จังหวัดนครราชสีมา แนวโน้มปรับสูงขึ้นเฉลี่ย 5-10% จากการเป็นหัวเมืองใหญ่และเป็นเมืองท่องเที่ยว โดยเฉพาะอำเภอปากช่องที่มีเขาใหญ่เป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุน
ภาคตะวันออกที่จังหวัดชลบุรี แนวโน้มปรับขึ้นเฉลี่ย 5-10% จุดโฟกัสอยู่ที่ 2 ทำเลหลัก “อำเภอบางละมุง-เมืองพัทยา” และภาคใต้ทำเลเด่นตลอดกาลต้องยกให้จังหวัดภูเก็ต แนวโน้มปรับขึ้นเฉลี่ย 10-15% แปลงที่เห็นราคาแพงในปี 2567 ยังเป็นเทรนด์การปรับราคาขาขึ้นในปี 2568 โดยเฉพาะทำเลติดหาดซึ่งนับวันจะหายากมากขึ้น
เพลินจิต-ชิดลมยืนแชมป์แพง
ทั้งนี้ สถิติ ณ สิ้นปี 2567 พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลที่มีราคาซื้อ-ขายสูงสุด 10 อันดับแรก มีดังนี้ (ดูตารางประกอบข่าว)
1.ถนนชิดลม-เพลินจิต ปิดดีลที่ราคาสูงสุด 3,750,000 บาท/ตารางวา 2.ถนนวิทยุ 3,100,000 บาท/ตารางวา 3.ถนนสุขุมวิทตอนต้น 2,940,000 บาท/ตารางวา 4.ถนนสุขุมวิท 21 อโศก 2,730,000 บาท/ตารางวา 5.ถนนสีลม 2,700,000 บาท/ตารางวา
6.ถนนสาทร 2,400,000 บาท/ตารางวา 7.ถนนสุขุมวิท เอกมัย 1,950,000 บาท/ตารางวา 8.ถนนเยาวราช 1,900,000 บาท/ตารางวา 9.ถนนพญาไท 1,850,000 บาท/ตารางวา และ 10.ถนนพหลโยธินตอนต้น 1,800,000 บาท/ตารางวา
ส่วนพื้นที่ภูมิภาคพบว่าจังหวัดสงขลา ราคาซื้อ-ขายที่ดินในปี 2567 สูงสุด รองจากกรุงเทพฯ ซื้อ-ขายเฉลี่ย 400,000 บาท/ตารางวา และจังหวัดเชียงใหม่ซื้อ-ขายสูงสุดเฉลี่ย 250,000 บาท/ตารางวา
“ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับราคาที่ดินในแต่ละทำเล ตัวแปรหลักมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ทั้งถนน รถไฟฟ้า สนามบิน ทำให้เกิดการขยายของเมือง การเดินทางที่สะดวกขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้ซื้อ ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนขยายการลงทุน โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ส่งผลต่อการปรับขึ้นของราคาที่ดินอย่างมีนัยสำคัญ”
กรุงเทพกรีฑา-พุทธมณฑลบูม
นายปริสุทธิ์กล่าวต่อว่า เจาะลึกทำเลเด่นในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล พบมีอย่างน้อย 4 ทำเลน่าสนใจ แบ่งเป็น 2 ทำเลที่เหมาะสำหรับการพัฒนาโครงการบ้านแนวราบ ได้แก่ 1.กรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ช่วง “ถนนศรีนครินทร์-ถนนร่มเกล้า” เขตสะพานสูง รองรับการขยายตัวของเมืองทางด้านกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก
โดยถนนกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ได้รับฉายาเบเวอร์ลี่ฮิลส์เมืองไทย เป็นถนนตัดใหม่มีขนาดใหญ่ เชื่อมต่อกับถนนหลักอื่น ๆ อาทิ ถนนพระราม 9 ถนนศรีนครินทร์ ถนนมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี ถนนรามคำแหง ถนนร่มเกล้า ถนนบางนา-ตราด ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่อาศัยขนาดกลาง-ใหญ่เกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก
2.ทำเล “ถนนพุทธมณฑลสาย 1-2” เขตตลิ่งชันและเขตทวีวัฒนา รองรับการขยายตัวของเมืองด้านกรุงเทพฯ ตะวันตก เชื่อมต่อถนนได้หลายเส้นทาง ทั้งถนนบรมราชชนนี ถนนเพชรเกษม ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ถนนกาญจนาภิเษก ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากรถไฟฟ้าสีแดง ทางด่วน และถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ซึ่งเป็นถนนตัดใหม่
ทำให้การเดินทางเข้าเมืองและโรงพยาบาลศิริราชสะดวกมากขึ้น ทำให้มีการลงทุนบ้านจัดสรรระดับไฮเอนด์เกิดขึ้นหลายโครงการ เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลธนบุรี
คอนโดฯปักหมุดจรัญฯ-กรุงธนบุรี
อีก 2 ทำเลเหมาะพัฒนาคอนโดมิเนียม ได้แก่ 3.“ถนนจรัญสนิทวงศ์” เขตบางกอกน้อย ช่วงสามแยกไฟฉายได้รับปัจจัยบวกจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เดินทางเข้าเมืองสะดวก อยู่ใกล้โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลธนบุรี สินค้าคอนโดฯ ได้รับความนิยมจากลูกค้าบุคลากรทางการแพทย์และข้าราชการที่ทำงานในโซนกรุงเทพฯ ชั้นใน
4.“ถนนกรุงธนบุรี” ช่วงรอยต่อเขตธนบุรีกับเขตคลองสาน เชื่อมต่อถนนได้หลายเส้นทาง อาทิ ถนนสาทรเหนือ ถนนรัชดาภิเษก ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถนนเจริญนคร ได้รับปัจจัยบวกจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับเขตสาทรโดยสะพานตากสิน การเดินทางเข้าเมืองสะดวกมากขึ้น เจาะลูกค้าพนักงานออฟฟิศในย่านสาทร สีลม ที่มองหาห้องชุดราคาไม่แพงมากนัก และเดินทางไม่ไกลที่ทำงาน
“ราคาที่ดินปี 2568 ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการลงทุน ทั้งเพื่อการพัฒนาอาคารพาณิชย์และที่อยู่อาศัย โดยการปรับตัวขึ้นของราคาในแต่ละทำเล จะขึ้นมากหรือน้อยมีปัจจัยเรื่องดีมานด์และอินฟราสตรักเจอร์ในทำเลเป็นองค์ประกอบด้วย
จะเห็นว่าทำเลราคาที่ดินแพงขึ้นมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นทำเลที่มีการเดินทางสะดวก ใกล้แนวรถไฟฟ้า ใกล้แหล่งงาน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต ตอบโจทย์การอยู่อาศัยเป็นหลัก” นายปริสุทธิ์กล่าว...