092-294-8999
097-918-4244
บังคับใช้ภาษีที่ดินฯ บีบแบงก์-อสังหา เร่งระบายทรัพย์กดราคาบ้าน-ที่ดินปี’64

เริ่มการจัดเก็บแล้วสำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่เลื่อนการจัดเก็บจากวันที่ 1 ม.ค. 2563 มาเป็นเดือน เม.ย. 2563 และเลื่อนอีกครั้งมาจัดเก็บภายในเดือน ส.ค. 2563 โดยวันที่ 31 ส.ค. 2563 นี้ จะเป็นวันครบกำหนดการชำระการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างครั้งแรก

ในครั้งนี้จะจัดเก็บภาษีที่ดินเพียง 10% ของภาระภาษีทั้งหมด เนื่องจากรัฐบาลต้องการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามมติการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 ที่เห็นชอบให้ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปีภาษี 2563 ในอัตรา 90% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้

การบังคับใช้และจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่งผลกระทบทั้งในเชิงบวกและลบ และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งโครงการบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม อาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน คลังสินค้า เจ้าของที่ดินโดยเฉพาะเจ้าของที่ดินรายใหญ่ ทั้งที่เป็นบุคคลและนิติบุคคล รวมไปถึงสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นองค์กรที่มีการถือทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPA) ไว้จำนวนมาก ต้องเร่งระบาย NPA ออกจากมือให้เร็วมากขึ้น

ไม่ว่าจะโดยการขายทอดตลาดและขายทรัพย์สินให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาธนาคารต่างก็เร่งระบาย NPA เพื่อลดภาระการบริหารสินทรัพย์ ลดความเสี่ยงการตั้งสำรอง และเพิ่มเงินหมุนเวียน แม้ว่ากฎหมายจะผ่อนปรนให้ 3 ปีแรกก็ตาม แต่จากการประเมิน NPA คงค้างในระบบธนาคาร พบว่ามีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาท ไม่นับรวมทรัพย์ที่อยู่ในมือบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) จากปริมาณทรัพย์คงค้างในระบบทั้งที่อยู่ในมือของธนาคาร เมื่อนับรวมกับทรัพย์ใหม่และทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการขายและก่อสร้างจากบริษัทอสังหาฯ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาต่างเร่งระบายสต๊อกออกให้เร็วที่สุด

ทำให้คาดว่านับจากปลายปี 2563 เป็นต้นไป จะเริ่มมีทรัพย์ประเภท บ้าน ทาวน์เฮาส์ ที่ดิน และคอนโด ทั้งที่เป็นของใหม่และของมือสองไหลเข้าสู่ตลาดและจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 แนวโน้มดังกล่าวจะทำให้ในช่วง 1-2 ปี จากนี้ราคาขายบ้านใหม่และบ้านมือสองมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลต่อราคาขายปรับตัวยากขึ้น และมีโอกาสที่ราคาขายที่อยู่อาศัยและที่ดินปรับตัวลดลง โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดที่ปัจจุบันอยู่ในภาวะโอเวอร์ซัพพลาย แนวโน้มดังกล่าวส่งผลดีต่อผู้บริโภคโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีเงินออมและต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่

ทั้งนี้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในกำกับของรัฐที่ทำหน้าที่สนับสนุนสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัยเป็นหลัก มีความเชี่ยวชาญในการบริหารทรัพย์ NPA เป็นอันดับต้นๆ ถือเป็นสถาบันการเงินแรกๆ ที่ตื่นตัวและมองเห็นโอกาสในวิกฤติ ด้วยการก้าวเข้ามาเป็นตัวกลางในธุรกิจจำหน่ายทรัพย์มือสอง

ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ล่าสุด ธอส. จัดทำ “โครงการ GH Bank Market Place ตลาดกลางบ้านมือสอง” เพื่อเปิดให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ต้องการลดภาระรายจ่ายในการผ่อนชำระสินเชื่อ ให้สามารถนำที่อยู่อาศัยของตนเองมาฝาก ธอส. จำหน่ายผ่านช่องทางของธนาคาร ระยะที่  1 จะเริ่มเปิดให้ประชาชนส่งรายละเอียดของทรัพย์ที่ต้องการจะขายมาให้ธนาคาร ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.-15 พ.ย. 2563 จากนั้นธนาคารจะนำข้อมูลเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจได้รับทราบผ่านทาง www.ghbhomecenter.com และ Mobile Application : GHBank Smart NPA และ ธอส. จะนำทรัพย์ออกประมูลขายครั้งแรกในวันที่ 19 ธ.ค. 2563

การก้าวเข้ามาเป็นตัวกลาง ของ ธอส. แม้จะเป็นการขยายช่องทางการสร้างรายได้ที่เพิ่มของธนาคาร แต่ก็เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของสัญญาณในตลาดอสังหาฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางและแนวโน้มตลาดอสังหาฯได้ไม่มากก็น้อยว่าในอนาคตอันใกล้นี้ สินทรัพย์ประเภทที่อยู่อาสัยในที่อยู่ในมือของ สถาบันการเงิน และบริษัทอสังหาฯรวมถึงที่อยู่ในมือนายทุนจะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งนั่นก็เป็นโอกาสดีสำหรับผู้บริโภคที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง

 

 

ที่มา : www.businesstoday.co